Monday, April 8, 2019

การหมักใบก้ามปู เพื่อทำดินใบก้ามปูสำหรับปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และผสมดินปลูกแคคตัส


                           ในการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ สูตรดินที่ผมนิยมใช้เป็นประจำก็คือดินใบก้ามปู ( ต้นก้ามปูก็คือต้นจามจุรีนั่นล่ะครับ ) เพราะใบก้ามปูนั้นมีธาตุอาหารสูง โดยเฉพาะธาตุไนโตรเจน ดินที่ผสมใบก้ามปูจึงเหมาะแก่การเจริญเติบโตของต้นไม้ ตั้งแต่ที่ผมลองใช้ดินชนิดนี้มา ผมค่อนข้างพอใจ ไม่ว่าจะเป็นการปลูก ชวนชม ชบา โป๊ยเซียน และไม้ชนิดอื่นๆ อีกหลากหลาย ต่างก็ให้ผลการเจริญเติบโตที่น่าพอใจมาตลอด ดินใบก้ามปูจึงเป็นดินที่ผมชอบมากที่สุด

ภาพต้นไม้ที่บ้านผม ใช้ดินใบก้ามปูปลูกเป็นหลัก

                          ซึ่งที่ผ่านมา ผมก็จะซื้อดินใบก้ามปูที่เข้าขายกันตามร้านขายดินทั่วไปนี่ล่ะครับ แบบราคา 6 ถุง 100 หรือ 7 ถุง 100 ก็จะซื้อมาใช้แบบง่ายๆ ไม่คิดอะไรมาก แต่ทว่าช่วงหลังๆ ผมเริ่มรู้สึกว่า ดินใบก้ามปูบางยี่ห้อ  แค่บางยี่ห้อนะครับ ที่ผมลองซื้อมาใช้ พอแกะออกมาดูในถุง ปรากฏว่ามีส่วนผสมที่เป็นใบก้ามปูน้อยมาก บางยี่ห้อเป็นดินก้อนใหญ่ๆ เป็นปึกดูไม่ร่วนเท่าไร พอเอามาใช้ปรากฏว่าปลูกต้นไม้ไปได้ซักพัก ดินแน่นจับตัวกันเป็นปึกทำให้ต้นไม้มีปัญหาในการเติบโต ระบบรากไม่ค่อยดี ผมก็เลยรู้สึกว่าไม่ค่อยโอเคเท่าไร ช่วงหลังๆ เวลาจะเลือกซื้อดินก็ต้องดูกันเยอะหน่อย จะเลือกซื้อกับร้านที่เค้ามีเปิดถุงเป็นตัวอย่างให้ดูว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง


                            ซึ่งพอมาลองคิดดู จริงๆ แล้ว แถวบ้านผมมีต้นก้ามปูอยู่เยอะ ที่ตลาดต้นไม้แถวบ้านผม บางช่วงก็จะมีร้านที่เอาใบก้ามปูมาขาย เป็นใบก้ามปูล้วนๆ ไม่ผสมอะไรทั้งนั้น ขายกันถุงละไม่กี่สิบบาท ถุงใหญ่มาก ผมก็เลยคิดขึ้นมาว่าน่าจะลองซื้อใบก้ามปูล้วนๆ มาผสมดินปลูกเองดู เผื่อว่าจะเข้าท่า ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำจากพี่ที่รู้จักกันว่า ใบก้ามปูก่อนจะใช้ควรหมักให้ผุพังเสียก่อน ถ้าเอาใบที่พึ่งร่วงใหม่ๆ มาผสมดินใช้เลยทันทีดินมันจะร้อน ซึ่งในการหมักใบก้ามปูให้ผุพังนั้นไม่ยาก ใช้หมักกับสารจุลินทรีย์ชีวภาพ หรือเจ้าน้ำ EM หมักสัก 3 เดือน ใบก็จะผุพังพร้อมให้เอามาผสมดินใช้ได้แล้ว ผมก็เลยมาลองทำดู ซึ่งวิธีการที่ผมใช้นั้นก็ไม่ยากเท่าไร ตอนที่ผมลองทำ ผมถ่ายรูปเก็บเอาไว้ด้วย และก็เลยลองเอามาเรียบเรียงให้ได้ชมกันในวันนี้ครับ


                             ในกะละมังนี้คือใบก้ามปูที่ผมซื้อมาจากร้านแถวๆ บ้าน 30 บาท ได้มาเยอะพอสมควรเลยล่ะครับ ส่วนขวดนั้นคือน้ำหมักจุลินทรีย์ หรือ EM ซึ่งเจ้าน้ำหมักจุลินทรีย์นี้จะเป็นตัวที่ช่วยให้ใบก้ามปูย่อยสลายผุพังได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งเจ้าน้ำหมักนั้นหาซื้อได้ไม่ยากครับ ตามร้านขายดินขายต้นไม้หรืออุปกรณ์การเกษตรหลายๆ ร้านก็จะมีขาย หรือตามตลาดต้นไม้ก็จะมีมาขายกันพอสมควร ซึ่งราคาน้ำหมักจุลินทรีย์นั้นก็ถูกมาก ขวดที่ผมซื้อมานี้ 10 บาทเองครับ ขวดแค่นี้ก็เพียงพอต่อการใช้งานเพราะเดี๋ยวเราต้องเอาไปผสมน้ำก่อนใช้ ผสมได้เยอะมากครับ

เราไปเริ่มขั้นตอนการมักใบก้ามปูกันเลยนะครับ


                           โดยในการหมักใบก้ามปูนั้นผมจะหมักในถุงปุ๋ย ก็เริ่มจากเทใบก้ามปูลงในถุงปุ๋ย ที่ใช้ถุงปุ๋ยเพราะมันมีรูระบายนํ้าได้ แต่ถ้าท่านไม่มีถุงปุ๋ยก็อาจจะใช้เป็นเข่ง ตระกร้าก็ได้ครับ หรือจะเป็นกะละมังก็ได้แต่ต้องเจาะรูระบายนํ้าก่อนนะครับ


                            จากนั้นก็รดน้ำให้ชุ่ม หรือจะเอาทั้งถุงไปแช่น้ำเลยก็ได้จะได้เปียกทั่วถึงเพราะบางทีเวลารดน้ำมันเปียกไม่ทั่วใบบางส่วนมันไม่เปียก หรือจะรดนํ้าก่อนแล้วค่อยเอามาใส่ถุงป๋ยก็ได้หมดครับ คือแค่ให้ใบก้ามปูที่เราจะหมักนั้นเปียกชุ่มทั่วๆ ก็เป็นอันใช้ได้

                            เมื่อเรารดน้ำจนชุ่มเรียบร้อยแล้วจากนั้นก็ ผสมน้ำหมักจุลินทรีย์ EM โดยอัตราส่วนผสมที่ผมใช้ก็ น้ำหมักจุลินทรีย์ 4 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 1 กระป๋อง  ( ประมาณ 10 ลิตร ) 

นํ้าหมักจุลินทรีย์จะมีกลิ่นค่อนข้างแรงสักหน่อยนะครับ บอกไว้ก่อน


                          เมื่อผสมน้ำหมักจุลินทรีย์เรียบร้อยแล้วก็นำมารดลงไปในถุงใบก้ามปูเลยครับ รดให้ชุ่มเลยนะครับ ตอนผมทำนี่คือผมเทหมดกระป๋องเลย

เมื่อรดนำหมักเรียบร้อยแล้วก็ปิดถุงเป็นอันจบ


                           จากนี้เราก็จะเอาถุงที่หมักใบก้ามปูไปเก็บไว้ในที่ร่มรำไร โดยในการดูแลต่อจากนี้ก็ไม่มีอะไรมาก เราจะเปิดถุงมารดน้ำอาทิตย์ละครั้ง รดน้ำจนชุ่มแล้วก็ปิดถุง แค่นี้เลยครับง่ายๆ

ตัดภาพมาอีที 1 เดือนหลังจากที่เราหมักใบก้ามปูเอาไว้ เราจะมาดูกันว่าเจ้าใบก้ามปูนั้นเริ่มผุพังแล้วหรือยัง


                              เปิดถุงออกมาแล้วนะครับ ผลปรากฏว่าใบที่อยู่ด้านบนนั้นยังไม่ผุเท่าไร แต่ส่วนใบที่อยู่ข้างใต้ๆ ของถุงนั้นเริ่มจะผุบ้างแล้วนะครับ โดยในภาพนี้ด้านซ้ายของถุงคือใบที่อยู่ด้านบน ส่วนด้านขวาคือใบที่อยู่ข้างใต้ที่ผมคุ้ยขึ้นมาจะเห็นว่าเริ่มผุพังบ้างแล้ว

                             ซึ่งเราก็จะมาทำการผสมน้ำหมักจุลินทรีย์เพื่อรดเค้าอีกครั้งนะครับ อัตราส่วนเดิม น้ำหมัก 4 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 1 กระป๋อง รดจนชุ่มแล้วก็ปิดถุงจากนั้นก็เอาไปเก็บ


                            คือมันก็จะวนลูปแบบนี้เรื่อยๆ นั่นล่ะครับ เปิดถุงมารดน้ำอาทิตย์ละครั้ง พอครบเดือนก็เปิดถุงมารดน้ำผสมนำหมักจุลินทรีย์ เราจะทำแบบนี้ไปจนครบ 3 เดือน ใบก้ามปูที่เราหมักไว้ก็น่าจะผุพังไปเยอะจนน่าจะพร้อมใช้ในการผสมเป็นดินปลูกต้นไม้ได้แล้ว

ภาพนี้คือภาพกลังจากที่เราหมักใบก้ามปูไปได้ 2 เดือนนะครับ 


                            จะเห็นว่าใบก้ามปูเริ่มที่จะผุพังไปพอสมควรแล้วล่ะครับ โดยใบก้ามปูที่อยู่ข้างใต้จะผุพังได้ดีกว่าใบด้านบน ซึ่งมันก็แก้ปัญหานี้ได้ไม่ยากด้วยการพลิกกลับใบก้ามปูโดยการเทใบก้ามปูจากถุงนี้ใบใส่ในถุงใบใหม่ พอเราเทไปปุ๊บใบที่อยู่ด้านบนที่มันผุพังไม่ค่อยดีก็ลงไปอยู่ข้างใต้ ส่วนใบที่อยู่ข้างใต้ก็จะพลิกขึ้นมาอยู่ด้านบนแทนแล้วล่ะครับ

แต่ผมไม่ได้ทำหรอกนะครับ ผมขี้เกียจ แค่เปิดถุงมารดน้ำอาทิตย์ละครั้ง กับรดน้ำหมักเดือนละครั้งก็พอแล้ว

                            พอครบ 3 เดือน เจ้าใบก้ามปูก็จะเริ่มผุพังย่อยสลายไปมากแล้ว เราก็สามารถตักขึ้นมาใช้ได้เลยครับ โดยในการใช้งานของผมนั้น ถ้าเป็นการปลูกไม้ดอกไม้ประดับทั่วไป ผมจะเอาไปผสมกับดินก่อนใช้ โดยจะมี 2 สูตรครับ 

สูตรแรก ใบก้ามปูหมัก 1 ส่วน ผสมดินร่วน 1 ส่วน 

ใบก้ามปูหมัก ผสมดินร่วน พร้อมปลูก

สูตรนี้ผมใช้ปลูกพวกชวนชม โป๊ยเซียน รวมไปถึงพวกต้น Aloe หรือพวกไม้ที่ชอบดินที่โปร่งๆ ก็จะใช้ป็นสูตรนี้

ต้นชวนชมที่บ้าน

ส่วนสูตรที่สอง ก็จะเป็น ใบก้ามปูหมัก 1 ส่วน ผสมดิน 1 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน กาบมะพร้าวสับเล็ก 1 ส่วน 

ใบก้ามปูหมัก ผสม ดิน ปุ๋ยคอก และกาบมะพร้าวสับเล็ก

                           สูตรนี้ผมใช้ในการปลูกไม้ดอกไม้ประดับทั่วๆ ไปเลยครับ ชบา กุหลาบ ไม้หัว บัวดิน ว่านสี่ทิศ และไม้ดอกไม้ประดับชนิดต่างๆ ที่ผมปลูกส่วนใหญ่ก็จะใช้ดินเป็นสูตรนี้เลยครับ


                             รวมไปถึงพวกตอกราฟแคคตัสผมก็ใช้ดินสูตรนี้ในการปลูกเช่นกันครับ ตอแก้วมังกร ตอหนามดำ ลูกผสม สามเหลี่ยมหนาม ตอบลู เปเรสเกีย ริทเทอโร ตอกราฟทุกชนิดเลยก็ว่าได้ รวมไปถึงพวกไม้กราฟก็ด้วยใช้ดินสูตรนี้หมดเลยครับ 

ตอกราฟแคคตัสหลากหลายชนิด

ปล. บางท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าเรามีเว็บในเครือที่นำเสนอบทความเกี่ยวกับการปลูกแคคตัส และไม้อวบน้ำ ไม้ทะเลทรายโดยเฉพาะด้วย ลองเข้าไปชมกันได้นะครับ ตามลิงก์นี้เลยครับ https://chowcactus.blogspot.com

                               สำหรับการผสมดินหมักใบก้ามปูสำหรับการปลูกไม้ดอกไม้ประดับทั่วๆ ไปของผมก็ประมาณนี้ หมักใบก้ามปูประมาณ 3 เดือนก็สามารถเอาไปผสมใช้ได้เลยครับ สำหรับเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ปลูกไม้ประดับก็จบแค่นี้เลยครับ 

แต่ถ้าเป็นเพื่อนๆ ที่ปลูกแคคตัส สนใจเรื่องการผสมดินปลูกกระบองเพชร และไม้อวบนํ้าล่ะก็ ยังมีต่อนะครับ ยังไม่จบ

                               ในการผสมดินปลูกแคคตัส กระบองเพชร , ฮาโวเทีย Haworthia , Dorstenia , ยูโฟเบีย Euphorbia หรือพวกไม้ที่เป็นไม้ทะเลทรายที่ไม่ชอบความชื้นที่มากเกินไป การผสมดินปลูกนั้นจะต้องหมักใบก้ามปูให้ผุพังย่อยสลายมากกว่านี้ ต้องหมักจนใบผุละเอียดเลยล่ะครับ เพราะในการผสมดินปลูกแคคตัสเราจะต้องร่อนเอาแต่เฉพาะเนื้อดินละเอียดๆ เท่านั้น เพราะฉะนั้น 3 เดือนในการหมัก มันยังผุพังไม่มากพอ ต้องใช้เวลาในการหมักมากกว่านั้น ประมาณ 5-6 เดือนน่าจะได้ บางท่านอาจจะหมักได้ผุเร็วกว่านั้นก็ได้ แต่ที่ผมลองทำมันประมาณ 5 -6 เดือนครับ เรื่องเวลาไม่ตายตัวนะครับ อย่างที่บอกไปว่าอาจจะเร็วกว่านั้นก็ได้ ให้ดูที่ความผุพังของใบเป็นหลัก ถ้าผุจนละเอียดดีแล้วก็ใช้ได้


                             ในภาพนี้คือใบก้ามปูที่ผมหมักไว้เป็นระยะเวลาประมาณ 5 เดือนครับ จะเห็นว่าผุพังจนละเอียดเลยครับ แบบนี้คือละเอียดพอเหมาะให้นำมาร่อนทำส่วนผสมดินปลูกแคคตัสได้แล้วล่ะครับ 


อันนี้คือผมเอาดินใบตากจนแห้งแล้วนะครับ แล้วก็มีการพรวนกลับดินตอนระหว่างที่ตากด้วยด้วย ก็เลยดูละเอียดขึ้น

ซึ่งสูตรส่วนผสมดินสำหรับปลูกแคคตัสและพวกไม้ทะเลทรายของผมนั้นก็ง่ายๆ

                            ดินใบก้ามปูหมักร่อนเอาแต่เนื้อดินละเอียดๆ ส่วนที่เป็นก้อนใหญ่ๆ เราไม่เอา 1 ส่วน ผสมกับหินภูเขาไฟก้อนเล็กสุด ( เบอร์ 00 ) 1 ส่วน และเพอร์ไลท์ 1 ส่วน แค่นี้ก็ได้แล้วครับ ลองไปดูภาพตอนผสมกันนะครับ

เริ่มจากนำดินใบก้ามปูที่เราหมักจนผุพังแล้วมาใส่ในตระแกรงร่อน เราจะร่อนเอาแต่เนื้อดินละเอียดๆ เท่านั้น


                             ก่อนนำดินมาร่อนผมแนะนำให้เอาดินไปตากแดดจัดๆ จนดินแห้องสนิทเสียก่อนก็ดีครับ เพราะถ้าดินมันชื้นบางทีมันร่อนไม่ออก รวมไปถึงอาจจะมีพวกมดและแมลงต่างๆ ปะปนมาด้วย เอาดินไปตากแดดจัดๆ จะช่วยให้มดและแมลงจะหนีออกไปได้อยู่ครับ


                            นี่คือร่อนเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เราจะใช้ในการนำไปผสมเป็นดินปลูกแคคตัสคือดินด้านขวาละเอียดๆ แบบนี้ใช้ได้ดีเลยครับ ส่วนที่เหลืออยู่ในตระแกรงนั้นเราจะไม่เอามาใช้ในการผสมดินปลูกแคคตัส แต่เราจะเอาไปผสมเป็นดินปลูกไม้ดอกไม้ประดับทั่วๆ ไป หรือเอาไปปลูกตอกราฟก็ได้


                              เมื่อเราร่อนดินใบก้ามปูมาได้เรียบร้อยแล้วก็นำไปผสมกับ หินภูเขาไฟ ( ก้อนสีน้ำตาล ) และเพอร์ไลท์ ( ก้อนสีขาว ) ตามภาพ ได้เลยครับ


ผสมเรียบร้อย พร้อมใช้ในการปลูกแคคตัสแล้วล่ะครับ 


ดินสูตรนี้เป็นสูตรที่ผมใช้ประจำ แคคตัส และไม้อวบน้ำส่วนใหญ่ในบ้านผมเลยก็ว่าได้ที่ใช้ดินสูตรนี้ 


                             มาถึงตอนท้ายของบทความแล้ว สำหรับท่านที่สนใจเกี่ยวกับใบก้ามปูหมัก แต่หาซื้อใบก้ามปูมาหมักไม่ได้ ไม่มีขายแถวๆ บ้าน หรือไม่อยากเสียเวลาหมักเอง ไม่สะดวกในการทำ หรือไม่อยากทำ จริงๆ แล้วเจ้าใบก้ามปูหมักนั้นมีขายครับ แต่ผมไม่ได้ขายหรอกนะครับ ผมทำไว้แค่พอใช้เองเท่านั้น ไม่ได้ทำไว้เยอะพอขาย แต่มีร้านที่เค้าทำขายอยู่ ไม้ว่าจะเป็นดินใบก้ามปูหมักสำหรับปลูกไม้ดอกไม้ประดับ หรือแม้แต่ใบก้ามปูหมักร่อนละเอียดสำหรับนำมาผสมเป็นดินปลูกแคคตัส หรือแม้แต่ดินปลูกแคคตัสแบบผสมมาเรียบร้อยพร้อมใช้ปลูกได้ทันทีก็มีจำหน่าย แต่อย่างที่บอกไปว่าผมไม่มีขายนะ แต่มีร้านที่ขายในเน็ตอยู่หลายร้าน คุณลองไปเสิร์ชดูนะครับน่าจะเจอร้านที่ขายอยู่ หรือถ้าเพื่อนๆ ท่านใดที่เล่นเฟสบุ๊คล่ะก็ ในกลุ่มซื้อขายแคคตัสใน เฟสบุ๊ค นี่แหละมีกลุ่มซื้อขายแคคตัสอยู่หลายกลุ่ม ซึ่งจะมีร้านที่เค้ามาลงขายพวกดินปลูกแคคตัสและใบก้ามปูหมักอยู่ ซึ่งใบก้ามปูหมักร่อนละเอียดที่มีคนนำมาลงขายในกลุ่มนั้นก็ราคาไม่ถือว่าแพงนะครับ ประมาณโลละ 40-50 บาท หรือถ้าเป็นพวกดินปลูกแคคตัสที่ผสมมาพร้อมใช้ก็ไม่แพง ถุงละ 50 - 60 บาท ถุงนึงได้เยอะอยู่ ถ้าเทียบกับการที่เค้ากว่าจะหมักจนใบก้ามปูนั้นผุพัง ไหนจะต้องเอามาร่อนให้ได้แต่เนื้อดินละเอียดเท่านั้นก่อนจะนำมาขาย ต้องใช้เวลาและการเอาใจใส่ในการทำค่อนข้างมาก ผมว่าซื้อเค้าเถอะครับ ไม่แพงหรอก 

                            แต่ถ้าแถวบ้านคุณหาใบก้ามปูไม่ยาก ยิ่งถ้ามีต้นก้ามปูหรือต้นจามจุรีต้นใหญ่ๆ ขึ้นอยู่แถวบ้าน สามารถไปโกยมาใช้ได้สบายๆ ไม่ต้องเสียตัง หรือถ้าคุณไม่ได้รีบร้อนอะไร อย่างผมที่มีเวลารอได้ หมักทิ้งไว้ไมได้ต้องรีบใช้อะไรมากมายก็มาลองหมักกันนะครับ ทำไม่ยากเลยครับ

ขอให้สนุกกับการปลูกต้นไม้นะครับ


                          สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากอ่านเรื่องราวและพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวการปลูกกระบองเพชรล่ะก็ ลองเข้ามาดูที่เพจนี้ได้นะครับ เพจในเครือของเราเองเช่นเดียวกัน https://www.facebook.com/chowcactus

No comments :

Post a Comment