Wednesday, October 17, 2018

การขยายพันธุ์ต้นหม่อน ด้วยการปักชำ ( Mulberry cuttings )


                         ที่บ้านผมมีต้นหม่อน ( Mulberry ) ต้นใหญ่อยู่ต้นนึง เป็นหม่อนทานผลสายพันธุ์ไทย แต่ไม่แน่ใจนะครับว่าเป็นพันธุ์ไทยชนิดไหนปลูกไว้นานหลายปีแล้ว ผมจำไม่ได้แล้วน่ะครับ


                          เจ้าหม่อนต้นนี้เป็นไม้ที่เลี้ยงไม่ยาก ผมปลูกลงดินไว้ตรงริมรั้วแทบจะไม่ต้องดูแลอะไรมาก รดน้ำวัน หรือสองวันครั้ง ใส่ปุ๋ยบ้าง นานๆ ที เค้าก็เติบโตได้ดีไม่มีปัญหา มีผลให้ทานบ้าง แต่เวลาที่จะให้ออกผลอาจจะต้องมีการกระตุ้นอย่างเช่นตัดกิ่งให้ออกออกผลมาพร้อมกับยอดที่แตกใหม่อะไรแบบนั้น เท้าความถึงเจ้าหม่อนต้นนี้ประมาณนี้ก่อนก็แล้วกัน มาเข้าเรื่องราวในวันนี้กันดีกว่า

                         เมื่อเดือนก่อน ระหว่างที่ผมกำลังจะตัดแต่งกิ่งหม่อนที่ยื่นออกไปเกะกะนอกรั้ว ผมเกิดความรู้สึกเสียดายกิ่งหม่อนที่ต้องตัดแต่งทิ้งไปก็เลยลองเอามาปักชำดู เผื่อว่าจะงอกออกราก ซึ่งวิธีการที่ผมใช้นั้น ก็ง่ายๆ เลยครับ แต่ก็ต้องบอกว่า ผมก็ไม่เคยลองปักชำกิ่งหม่อนมาก่อนเลยนะครับ อันนี้คือลองทำแบบงูๆ ปลาๆ เลยล่ะครับ


                          อันนี้คือภาพของกิ่งหม่อนที่ผมตัดเอาไว้ แต่ผมคงไม่เอาไปปักชำทั้งยาวๆ แบบนี้หรอกนะครับ มันยาวเกินไป เดี๋ยวจะเอามาตัดแบ่งเป็นท่อนๆ ขนาดพอเหมาะก่อน แล้วค่อยเอาไปชำ


                           ตัดเป็นท่อนเรียบร้อย ยาวน่าจะประมาณ 30-40 ซม. เรื่องความยาวในการตัด แค่ไหนถึงจะดี อันนี้ผมก็ไม่ทราบนะครับ ผมตัดไปตามที่รู้สึกว่ามันน่าจะกำลังดี


                       หลังจากที่ตัดกิ่งหม่อนเป็นท่อนๆ เรียบร้อย ผมก็จะเอามีดกรีดที่โคนกิ่งแต่ละท่อน กรีดยาวสัก 3 ซม. โดยผมจะกรีดประมาณ 5 รอยรอบๆ กิ่ง 


                          การกรีดโคนกิ่งนั้นก็เพื่อที่จะเพิ่มพื้นที่ ที่เค้าจะออกรากให้มากขึ้น คือพอเรากรีดเปิดแผลไป เวลาที่เค้าออกราก รากจะออกตามรอยแนวที่กรีดไปอะไรประมาณนั้น ซึ่งการกรีดโคนนั้นเป็นวิธีการที่มีพี่ๆ เคยแนะนำผมมาตอนที่ผมลองปักชำไม้ชนิดอื่น แล้วมันได้ผลที่น่าพอใจ ผมก็เลยลองมาทำกับการปักชำกิ่งหม่อนดูบ้างน่ะครับ


                         หลังจากที่กรีดที่โคนกิ่งเรียบร้อย ถ้าคุณมีพวกยาเร่งรากล่ะก็ จุ่มยาเร่งรากหรือทายาเร่งรากเพื่อช่วยกระตุ้นการออกรากด้วยก็ได้นะครับ จะได้ช่วยให้ออกรากไวๆ แต่ด้วยความที่วันที่ทำ ผมไม่มียาเร่งรากก็เลยไม่ได้ใช้แต่อย่างใด ปักไปเลยเพียวๆ 


                        สำหรับดินที่ใช้ในการปักชำกิ่งหม่อนชุดนี้นั้น ผมก็ใช้เป็นดินถุงทั่วๆ ไปนี่แหละครับ เป็นดินใบก้ามปู ซื้อจากร้านขายดินปลูกต้นไม้แถวๆ บ้าน ซื้อมาปุ๊บ แกะถุงดินมาเทใส่กระถาง จากนั้นก็เอากิ่งหม่อนที่เตรียมไว้ปักลงไปตามที่เห็นเลยครับ

                       หลังจากที่ปักชำกิ่งเรียบร้อย ในเรื่องของการดูแลนั้น ก็ง่ายๆ ผมจะนำกระถางปักชำไปเก็บไว้ในจุดที่มีแสงส่องรำไร รดน้ำ 2 วันครั้ง หรือไม่ก็ดูที่ผิวดิน ถ้าเห็นว่าดินเริ่มแห้งก็จะรดน้ำ แต่ถ้าเห็นดินยังแฉะก็จะเว้นไปยังไม่ต้องรด แค่นี้เองครับสำหรับการดูแลไม่มีอะไรมาก ที่เหลือก็เป็นการรอคอยให้เค้าออกรากครับ

อาทิตย์กว่าๆ หลังจากปักชำ เริ่มแตกยอด

                        หลักจากปักชำไปอาทิตย์กว่าๆ เค้าเริ่มมีพัฒนาการการเจริญเติบโต เริ่มมีการแตกยอดแล้วล่ะครับ แต่ผมก็ไม่แน่ใจนะครับว่าตอนนี้เค้าออกรากแล้วหรือยัง เพราะมันพึ่งผ่านมาแค่อาทิตย์กว่าๆ เอง รอดูกันต่อไปดีกว่า

2 อาทิตย์หลังจากวันที่ปักชำ ภาพด้านล่าง

2 อาทิตย์หลังจากวันที่ปักชำ

                         ยอดที่แตกขึ้นมาก่อนหน้านั้น เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีพัฒนาการที่ดีมากๆ เลยล่ะครับ แถมยอดอ่อนที่แตกออกมานั้น ยังออกผลมาอีกด้วยล่ะครับ 


ที่อยู่ตรงโคนใบนั่นล่ะครับ นั่นคือผลหม่อนอ่อนๆ รอลุ้นกันต่อไปว่าจะผลหม่อนเหล่านี้จะเติบโตให้เราได้ทานหรือไม่

3 อาทิตย์หลังจากวันที่ปักชำ 


                             การเจริญเติบโตยังต่อเนื่อง ใบและผลที่แตกออกมาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ผมค่อนข้างมั่นใจเลยว่าตอนนี้เจ้าต้นหม่อนออกรากเรียบร้อย การปักชำน่าจะสำเร็จผ่านไปได้ด้วยดีแล้วล่ะครับแบบนี้

                             เมื่อมั่นใจแล้วว่าเจ้าหม่อนของเราออกรากและเจริญเติบโตจนตั้งตัวได้แล้วแบบนี้ ผมก็จะจับเค้าย้ายที่เลี้ยงจากที่ตอนแรกเราให้เค้าอยู่ในจุดที่มีแสงส่องรำไร ตอนนี้ผมจะย้ายเค้าไปอยู่ในจุดที่ได้รับแสงแดดมากขึ้น เพื่อให้เค้าได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ การเจริญเติบโตของใบและผลหม่อนจะได้เติบโตได้ดียิ่งขึ้น

                            สำหรับสถานที่ปลูกที่ผมย้ายต้นหม่อนมานั้น ได้รับแสงแดดประมาณครึ่งวันในทุกๆ วัน คือแดดส่องตั้งแต่ เช้าจนถึงเที่ยง  ส่วนในเรื่องของการรดน้ำนั้น ด้วยความที่เค้าได้รับแสงแดดอย่างสม่ำเสมอ ผมก็เลยรดน้ำทุกวัน วันละครั้ง แต่ถ้าวันไหนฝนตกก็จะไม่รดน้ำ เว้นไปให้เค้าทานน้ำฝน ซึ่งเค้าก็เจริญเติบโตดีไม่มีปัญหาอะไรครับ

1 เดือนหลังจากวันที่ปักชำ 


เจ้าต้นหม่อนสดใส เติบโตอย่างรวดเร็วใช้ได้เลยล่ะครับ


เลี้ยงกันต่อไปเรื่อยๆ มองดูการเจริญเติบโตของผลหม่อน ผมว่าน่าจะได้กินแน่นอน เหลือแต่รอว่าเมื่อไรจะแก่เท่านั้น 

2 เดือนหลังจากวันที่ปักชำ ผลหม่อนเริ่มเติบโตจนมีผลบางส่วนที่เริ่มจะแก่จัดให้เก็บมาทานได้แล้วล่ะครับ 


                            ผลหม่อนที่แก่จัด สีจะเข้ม ผลสีดำๆ นั่นล่ะครับ คือผลที่แก่ รสชาติจะหวานครับผลที่แก่แบบนี้ แต่ถ้าผลที่เป็นสีแดงนั้น คือผลที่ยังไม่แก่จัด ผมลองเก็บมากินดูแล้วพบว่ารสชาติเปรี้ยว เปรี้ยวพอตัวเลยด้วย เพราะงั้นรอให้ผลของเค้าแก่จัดจนเป็นสีดำก่อนน่าจะดีกว่าครับ แต่ถ้าคุณอยากทานแบบเปรี้ยวๆ ก็เก็บแบบสีแดงทานได้ไม่มีปัญหา แต่ของผมชอบทานแบบหวานมากกว่าน่ะครับ


                            ก็ไม่มีอะไรแล้วครับ การปักชำกิ่งหม่อนในคราวนี้ถือว่าผ่านไปได้ด้วยดี ตอนนี้เจ้าต้นหม่อนเหล่านี้ต่างก็เติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ เดี๋ยวอีกสักพักผมก็คงจับเค้าย้ายกระถางไปใส่ในกระถางที่ใหญ่ขึ้น หรือไม่ก็อาจจะย้ายไปปลูกลงดินต่อไป เค้าจะได้เจริญเติบโตขยับขยายทรงต้นแตกกิ่งก้านเติบใหญ่ได้อย่างเต็มที่ต่อไป


                         ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านไม่มากก็น้อย แล้วพบกันใหม่กับเรื่องราวการปลูกต้นไม้ของเราเรื่องต่อไป ส้วนจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับไม้ชนิดไหนนั้น ต้องมาดูกันครับ ขอบคุณทุกท่านมากๆ ครับ ที่ผ่านเข้ามาอ่าน แล้วพบกันใหม่ครับ

1 comment :

  1. ขอบคุณค่ะ ได้กิ่งมาพอดี หาวิธี

    ReplyDelete